วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

กลีบกุหลาบ ไม่ใช่แค่ดอกไม้สวย แต่มีประโยชน์ด้วย

กุหลาบ นอกจากจะเป็นดอกไม้ที่ให้ความสวยงาม และมีกลิ่นหอมแล้วยังสามารถใช้ในทางการแพทย์แผนโบราณ และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางค์ได้อีก  โดยส่วนที่นิยมใช้คือกลีบดอกโดยสามารถนำมาใช้ได้ทั้งการทาภายนอก หรือรับประทาน
Photo CR: http://www.flickr.com/groups/flowerthemes

คุณสมบัติทางยาของกุหลาบได้แก่ กลิ่นหอมที่ทำให้รู้สึกสงบ บำรุงหัวใจ ต้านอักเสบ ขับเสมหะ(expectorant) บรรเทาอาการไอ บำรุงทางเพศ(aphrodisiac) ขจัดสิ่งสกปรก(depurative) ช่วยระบาย(aperients) ต้านแบคทีเรีย แก้ถ่ายท้อง ฆ่าพยาธิ(ascaricide) ช่วยย่อย ขับลม ลดไข้ ห้ามเลือด สมานแผล และช่วยในการฟื้นฟูและบำรุงร่างกาย(1,2)

ในทางเครื่องสำอางค์สารสกัดจากกลีบกุหลาบจะใช้ในผลิตภัณฑ์เพื่อการบำรุงและให้ความชุ่มชื้นผิว ปกป้องผิวจากการแพ้และการอักเสบต่างๆ(3) นอกจากนี้ยังช่วยปกป้องผิวจากรังสียูวี และอนุมูลอิสระต่างๆที่จะนำไปสู่ความเสื่อมของผิว(4)

กุหลาบจัดเป็นดอกไม้ที่รับประทานได้ และมีการนำมาใช้รับประทานมาเป็นเวลายาวนานนับศตวรรษ  การรับประทานนั้นสามารถนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของอาหาร รับประทานสด หรือนำไปใช้ในอาหารแปรรูปเช่นลูกอม และเครื่องดื่ม(5)

ชากลีบกุหลาบมีคุณสมบัติในการต้านออกซิเดชั่นสูงสามารถเทียบเคียงได้กับชาเขียว และชาดำ นอกจากนี้ยังพบว่ามีกุหลาบบางสายพันธุ์ที่มีคุณสมบัติในการต้านออกซิเดชั่นสูงกว่าชาเขียว(5)

สารสกัดจากกลีบกุหลาบนอกจากจะมีคุณสมบัติในการต้านออกซิเดชั่นที่มีประสิทธิภาพแล้วยังคุณสมบัติอื่นๆที่เป็นประโยชน์ด้วย ได้แก่

  • ต้านภูมิแพ้ โดยจากการศึกษาในหนูทดลองพบว่าสามารถลดอาการคันในหนูที่ถูกกระตุ้นด้วยสารฮิสตามีน(สารก่อภูมิแพ้)ซึ่งแสดงถึงความสามารถในการต้านผื่นแพ้ที่ผิวหนัง(6)
  • ต้านแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคต่างๆ ซึ่งจะมีประโยชน์ในการนำไปใช้ในการรักษาโรคท้องร่วง โรคติดเชื้อฉวยโอกาส และการติดเชื้อที่ผิวหนัง(7)
  • มีการศึกษาในหนูทดลองพบว่าสารสกัดจากกลีบกุหลาบมีคุณสมบัติในการปกป้องเซลล์ และต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ดี(8)
  • ลดการสังเคราะห์ไตรกลีเซอไรด์ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ในการรักษาภาวะเมตาบอลิกที่ผิดปรกติ เนื่องจากมีคุณสมบัติในการยับยั้งเอนไซม์ไดเอซิลกลีเซอรอลเอซิลทรานส์เฟอเรส(diacylglycerol acyltransferase)ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่กระตุ้นการสังเคราห์ไตรกลีเซอร์ไรด์(9)
  • ต้านการกลายพันธุ์(anti-mutagenicity)(10)


สารสกัดจากกลีบกุหลาบกับสุขภาพผิว

ในสารสกัดจากกลีบกุหลายจะมีสารที่ชื่อว่า ยูเจนิอิน(eugeniin)(11) ซึ่งมีคุณสมบัติในการกระตุ้นการสังเคราะห์คอลลาเจน(12)

ป้องกันผิว และการเกิดริ้วรอยจากการทำลายจากยูวีในแสงแดดโดยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อีลาสเทส(elastase)ที่ถูกกระตุ้นด้วยแสงแดด(13)

ด้วยคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ(5) ช่วยปกป้องผิวจากอนุมูลอิสระต่างๆที่จะมาทำลายผิวได้

ปกป้องผิวจากการเกิดผื่นแพ้ (6) ลดการเกาและอาการคันที่ผิวซึ่งจะก่อให้เกิดริ้วรอยที่ผิวได้



หมายเหตุ
ถ้าจะนำกลีบกุหลาบมาใช้ในการประกอบอาหารต้องมั่นใจว่ากุหลาบนั้นไม่มีสารเคมีตกค้าง เนื่องจากผู้ปลูกกุหลาบปลูกเพื่อวัตถุประสงค์เป็นดอกไม้ประดับความใส่ใจในการใช้สารเคมีต่างๆจะต่างจากการปลูกผักและผลไม้


ที่มาของข้อมูล
  1. Jitendra, J., Vineeta, T., Ashok, K., Brijesh, K., & Singh, P. (2012). ROSA CENTIFOLIA: PLANT REVIEW. IJRPC, 2(3), 794-796. Available: www.ijrpc.com
  2. James A. Duke. (2002) Handbook of Medicinal Herbs, Second edition. CRC Press.
  3. Datta, H. S., & Paramesh, R. (2010). Trends in aging and skin care: Ayurvedic concepts. Journal of Ayurveda and integrative medicine, 1(2), 110.
  4. Dawson, S., EATON, C., JOSEPH, L. B., & BERTRAM, C. (2006). Antiaging benefits of French rose petal extract. Cosmetics and toiletries, 121(2).
  5. Vinokur, Y., Rodov, V., Reznick, N., Goldman, G., Horev, B., Umiel, N., & Friedman, H. (2006). Rose Petal Tea as an Antioxidantrich Beverage: Cultivar Effects. Journal of food science, 71(1), S42-S47.
  6. Jeon, J. H., Kwon, S. C., Park, D., Shin, S., Jeong, J. H., Park, S. Y., ... & Joo, S. S. (2009). Anti-allergic effects of white rose petal extract and anti-atopic properties of its hexane fraction. Archives of pharmacal research, 32(6), 823-830.
  7. Hirulkar, N. B. (2011). Antimicrobial activity of rose petals extract against some pathogenic bacteria. International Journal of Pharmaceutical & Biological Archive, 1(05).
  8. Chandragopal, S., Kumar, S., & Archana, B. (2012). Evaluation of Anti-ulcer activity of Rosa Centifolia (Linn.) flowers in experimental rats. Journal of Natural Remedies, 12(1), 20-29.
  9. Kondo, H., Hashizume, K., Shibuya, Y., Hase, T., & Murase, T. (2011). Identification of diacylglycerol acyltransferase inhibitors from Rosa centifolia petals. Lipids, 46(8), 691-700.
  10. Kumar, S., Gautam, S., & Sharma, A. (2013). Identification of Antimutagenic Properties of Anthocyanins and Other Polyphenols from Rose (Rosa centifolia) Petals and Tea. Journal of food science.
  11. Nayeshiro, K., & Eugster, C. H. (1989). Notiz über Ellagitannine und Flavonolglycoside aus Rosenblüten. Helvetica Chimica Acta, 72(5), 985-992.
  12. Tsukiyama, M., Sugita, T., Kikuchi, H., Yasuda, Y., Arashima, M., Okumura, H., ... & Shoyama, Y. (2010). Effect of Duabanga grandiflora for human skin cells. The American Journal of Chinese Medicine, 38(02), 387-399.
  13. Tsukahara, K., Nakagawa, H., Moriwaki, S., Takema, Y., Fujimura, T., & Imokawa, G. (2006). Inhibition of ultravioletBinduced wrinkle formation by an elastaseinhibiting herbal extract: implication for the mechanism underlying elastaseassociated wrinkles. International journal of dermatology, 45(4), 460-468.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น