กลูต้าไธโอน คือ
เปปไทด์ ที่ประกอบไปด้วยกรดอะมิโน 3 ตัว ได้แก่ กลูตาเมท, ซิสเตอีน และไกลซีน (glu-cys-gly) ร่างกายเราสามารถสังเคราะห์กลูต้าไธโอนได้เองจากกรดอะมิโนที่เป็นสารตั้งต้นทั้ง
3 ตัว ซึ่งการสังเคราะห์จะเกิดขึ้นภายในบริเวณน้ำที่อยู่ในเซลล์(cytosol)
กลูต้าไธโอนมีบทบาทสำคัญภายในร่างกายเราได้แก่(1,2)
- กำจัดอนุมูลอิสระทั้งทางตรงโดยการเข้าไปกำจัดโดยตรง หรือ ทางอ้อมโดยเป็นผู้ช่วยเอนไซม์ที่ทำหน้าที่กำจัดอนุมูลอิสระ เช่นกลูต้าไธโอนเปอร์ออกซิเดส(glutathione peroxidase, GPX)
- เข้าทำกับเมตาบอไลท์ต่างๆของร่างกายซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับ
- การกำจัดสารพิษ โดยกำจัดเมตาบอไลท์ที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น เมตาบอไลท์จากยา, สารเคมี, ฮอร์โมนเอสโตรเจน(เมตาบอไลท์จากเอสโตรเจนมีคุณสมบัติเป็นสารก่อมะเร็ง), พรอสตาแกลนดิน(prostaglandins) และลิวโคไตรอีน(leukotrienes) (เมตาบอไลท์ของพรอสตาแกลนดิน และ ลิวโคไตรอีนจะเกี่ยวข้องกับการอักเสบ) ซึ่งในการกำจัดจะร่วมกับเอนไซม์กลูต้าไธโอนเอสทรานเฟอเรส(glutathione s transferase)
- การผลิตเมลานินในชั้นผิว
- ควบคุมปริมาณไนตริกออกไซด์ซึ่งถ้ามีมากไปจะเป็นพิษต่อเซลล์โดยเฉพาะเซลล์ประสาท โดยกลูต้าไธโอนจะเข้าจับกับไนตริกออกไซด์แล้วกลายเป็นเอสไนโตรโซกลูต้าไธโอน(s-nitrosoglutathione, GSNO) รอการสลายออกเป็นกลูต้าไธโอน และไนตริกออกไซด์ตามสภาพความต้องการของร่างกาย
- ลดความเป็นพิษของฟอร์มัลดีไฮด์ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากกระบวนการเมตาบอลิซึมภายในร่างกาย
- รักษาสมดุลของปริมาณซัลไฟดริล(sulphydryl) หรือกลุ่มไทออล(thyol)ของเซลล์ ทำให้เกิดสมดุลของปฏิกิริยาออกซิเดชั่นรีดักชั่น ส่งผลให้เซลล์มีการทำงานปรกติ
- ควบคุมการทำงานต่างๆในร่างกายได้แก่ การแสดงออกของยีน, การสังเคราะห์ดีเอ็นเอ และโปรตีน, การแบ่งตัว และการตายของเซลล์, การผลิตสารก่ออักเสบ และการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกัน, กระบวนการนำส่งสัญญาณต่างๆ, การทำงานของไมโตคอนเดรีย และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโปรตีน(protein glutathionylation)
Photo CR: http://benefitsofglutathione.com |
คือสารสีที่พบในผิว ผม และม่านตา ที่สร้างขึ้นจากเซลล์ที่ชื่อว่าเมลาโนซัยท์(melanocyte) ที่อยู่บนชั้นผิวหนังกำพร้า(epidermis) สีที่ปรากฏจะแตกต่างไปตามชนิดของเมลานิน
ซึ่งอาจแบ่งเมลานินที่ผิวหนังเป็น 2 ชนิดใหญ่คือ ยูเมลานิน(eumelanin) ซึ่งมีสีน้ำตาลดำ และฟีโอเมลานิน(pheomelanin)
ซึ่งมีสีเหลืองแดง(3) โดยปรกติผิวของเราจะมีการผสมเมลานินทั้ง
2 ตัวนี้ ดังนั้นการที่คนเรามีสีผิวต่างกันเนื่องจากปริมาณ และอัตราส่วนการผสมที่แตกต่างกันซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากพันธุกรรม
Photo CR: http://www.answersingenesis.org |
ปรกติแล้วเมลานินมีหน้าที่ในการปกป้องผิวจากการไหม้และโอกาสเกิดมะเร็งผิวหนังจากแสงแดด
โดยการดูดกลืนรังสียูวีที่เป็นอันตรายต่อผิวในแสงแดด ซึ่งจะสังเกตุได้ว่าโดยธรรมชาติประชากรที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคที่มีแสงแดดแรงจะมีสีผิวที่คล้ำกว่าเนื่องจากมีปริมาณเมลานินในปริมาณมากกว่าประชากรที่อาศัยอยู่ในที่แสงแดดอ่อน(4)
เมื่อผิวเราโดนแสงแดด รังสียูวีในแสงแดดจะกระตุ้นให้เซลล์เมลาโนซัยท์สร้างเมลานินออกมาและส่งออกมาที่ชั้นผิว
คนเอเชียเมื่อถูกกระตุ้นด้วยรังสียูวีจะมีการสร้างเมลานินมากกว่าคนยุโรป(เหนือ)(5)
การสังเคราะห์เมลานิน(melanogenesis)ในชั้นผิว(4,6)
เริ่มจากสารตั้งต้นไทโรซีน(tyrosine) ผ่านกระบวนการเติมหมู่ไฮดรอกซิล(hydroxylation)
จนกลายเป็นแอลไดไฮดรอกซีฟีนิลอะลานีน หรือแอลโดพา(L-dihydroxyphenylalanine, L-dopa) จากนั้นจะถูกออกซิเดชั่นกลายเป็นแอลโดพาคิวโนน(L-dopaquinone) ซึ่งจะกลายเป็นยูเมลานิน(eumalanin) หรือฟีโอเมลานิน(phemalanin) ก็ขึ้นอยู่กับขั้นตอนถัดไป โดยในสภาวะที่ขาดหมู่ไทออลจากกรดอะมิโนซิสเตอีน
หรือ กลูต้าไธโอน แอลโดพาคิวโนนจะถูกเปลี่ยนเป็น ยูเมลานิน แต่ในสภาวะที่มีความเข้มข้นของกรดอะมิโนซิสเตอีน หรือ กลูต้าไธโอนเพียงพอแอลโดพาคิวโนนจะถูกเปลี่ยนเป็น ฟีโอเมลานิน
เอนไซม์ที่มีบทบาทสำคัญในการสังเคราะห์เมลานินคือไทโรซิเนส(tyrosinase)
เอนไซม์ไทโรซิเนสเป็นเอนไซม์ที่บทบาทสำคัญในการสังเคราะห์เมลานินในชั้นผิว
ดังนั้นการยับยั้งกิจกรรมของเอนไซม์ไทโรซิเนสจึงเป็นประเด็นสำคัญในการทำให้เมลานินในชั้นผิวมีปริมาณลดลงและส่งผลให้สีผิวขาวกระจ่างขึ้น
Villarama
และ Maibach
(2005) ได้รวบรวมการศึกษาทั้งในหลอดทดลอง และในสิ่งมีชีวิตถึงความสามารถในการยับยั้งการสร้างเมลานินของกลูต้าไธโอน(7)ซึ่งได้แก่
- สามารถยับยั้งกิจกรรมของเอนไซม์ไทโรซิเนสโดยตรงด้วยการเข้าไปจับกับตำแหน่งที่ใช้ในการทำงานของเอนไซม์(active site)
- ทำให้เกิดการสังเคราะห์เมลานินชนิดฟีโอเมลานินซึ่งมีสีอ่อนกว่าเมลานินชนิดยูเมลานิน
- มีความสามารถในการจับอนุมูลอิสระ และเพอร์ออกไซด์ ซึ่งจะส่งผลต่อกิจกรรมของเอนไซม์ไธโรซิเนสในการสังเคราะห์เมลานิน เนื่องจากในการสังเคระห์เมลานินที่ถูกกระตุ้นเอนไซม์ไธโรซิเนสในบางขั้นตอนมีการใช้อนุมูลออกซิเจน(8)
- ควบคุมการเข้าไปทำลายเม็ดสีของสารที่เป็นพิษต่อเมลาโนซัยท์(melanocytotoxic agent) จึงช่วยป้องกันการเกิดรอยด่าง หรือสีผิวที่ไม่สม่ำเสมอ
นอกจากนี้ Matsuki
และคณะ (2008) ยังพบว่ากลูต้าไธโอนสามารถยับยั้งการสังเคราะห์เมลานินโดยเข้าไปขัดขวางการทำงานของแอลโดพา(L-dopa)(9)
ในปี 2012 ได้มีการศึกษาทางคลีนิกในกลุ่มนักศึกษาแพทย์ชายหญิงอายุ
19-22 ปี โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ได้รับยาหลอก
และกลุ่มที่ได้รับกลูต้าไธโอนในปริมาณ 500 มก ต่อวัน(ครั้งละ 250 มก.วันละ 2
ครั้ง) เป็นเวลา 4 สัปดาห์ พบว่ากลุ่มที่ได้รับกลูต้าไธโอนมีปริมาณเมลานินที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังพบว่าผิวมีความเรียบเนียนและรูขุมขนกระชับขึ้นแต่ไม่ถึงระดับนัยสำคัญ(10)
ผิวขาวกระจ่างใส ถือเป็นผลพลอยได้จากการรับประทานกลูต้าไธโอน
แต่แท้จริงแล้วกลูต้าไธโอนมีดีมากกว่านั้นเนื่องจากกลูต้าไธโอนเป็นสารที่สำคัญและจำเป็นอย่างมากในร่างกายเรา
โดยปรกติร่างกายเราสามารถผลิตกูลต้าไธโอนเองได้จากกรดอะมิโน(กลูตาเมท, ซิสเตอีน
และไกลซีน)ที่ได้รับจากอาหารประเภทโปรตีน
แต่การผลิตกลูต้าไธโอนจะลดลงเมื่อเราอายุมากขึ้น สภาพร่างกายไม่สมบรูณ์หรือเป็นโรคบางโรค
ถ้าในร่างกายเรามีปริมาณกลูต้าไธโอนไม่เพียงพอจะทำให้ระบบการทำงานของร่างกายเราผิดเพี้ยนไปและเป็นสาเหตุของการเสื่อมโทรม
และโรคต่างๆได้
- Wu, G., Fang, Y. Z., Yang, S., Lupton, J. R., & Turner, N. D. (2004). Glutathione metabolism and its implications for health. The Journal of nutrition,134(3), 489-492.
- Wang, W., & Ballatori, N. (1998). Endogenous glutathione conjugates: occurrence and biological functions. Pharmacological Reviews, 50(3), 335-356.
- Thody, A. J., Higgins, E. M., Wakamatsu, K., Ito, S., Burchill, S. A., & Marks, J. M. (1991). Pheomelanin as well as eumelanin is present in human epidermis.Journal of Investigative Dermatology, 97(2), 340-344.
- Slominski, A., Tobin, D. J., Shibahara, S., & Wortsman, J. (2004). Melanin pigmentation in mammalian skin and its hormonal regulation. Physiological reviews, 84(4), 1155-1228.
- Hennessy, A., Oh, C., Diffey, B., Wakamatsu, K., Ito, S., & Rees, J. (2005). Eumelanin and pheomelanin concentrations in human epidermis before and after UVB irradiation. Pigment cell research, 18(3), 220-223.
- Gillbro, J. M., & Olsson, M. J. (2011). The melanogenesis and mechanisms of skin‐lightening agents–existing and new approaches. International journal of cosmetic science, 33(3), 210-221.
- Villarama, C. D., & Maibach, H. I. (2005). Glutathione as a depigmenting agent: an overview. International journal of cosmetic science, 27(3), 147.
- Valverde, P., Manning, P., McNEIL, C. J., & Thody, A. J. (1996). Activation of tyrosinase reduces the cytotoxic effects of the superoxide anion in B16 mouse melanoma cells. Pigment cell research, 9(2), 77-81.
- Matsuki, M., Watanabe, T., Ogasawara, A., Mikami, T., & Matsumoto, T. (2008). Inhibitory mechanism of melanin synthesis by glutathione]. Yakugaku zasshi: Journal of the Pharmaceutical Society of Japan, 128(8), 1203.
- Arjinpathana, N., & Asawanonda, P. (2012). Glutathione as an oral whitening agent: A randomized, double-blind, placebo-controlled study. Journal of Dermatological Treatment, 23(2), 97-102.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น